logo
กรมธนารักษ์
Mukdahan Provincial Treasury
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

ประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร

ตั้งเมืองมุกดาหาร

     มุกดาหาร เป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศลาวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาว่า...
     ในครั้งเมื่อปลายสมัยของกรุงศรีอยุธยาทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงแขวงสุวันเขต มีหมู่บ้านชุมชนใหญ่ชื่อบ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสะวันเขตในปัจจุบัน มีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ปกครอง และมีบุตรชายชื่อเจ้ากินรี ซึ่งเจ้าจันทรสุริยวงศ์ได้ปกครองอยู่หลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรีผู้เป็นบุตรได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก
     เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก)เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว(คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)

     ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
     เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ (ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้)ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน(รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)
     ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระายาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร

คำขวัญจังหวัดมุกดาหาร  :


"หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา

แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน

 กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา

ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน"

 

 

การเดินทาง :

ทางรถยนต์
จังหวัดมุกดาหารอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 642กิโลเมตร ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-โพนทอง-คำชะอี-มุกดาหาร หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 207 ที่บ้านวัดผ่าน ประทาย พุทไธสง พยัคฆภูมิพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 202) เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ ยโสธร แยกเข้ามาทางหลวงหมายเลข 2169 ผ่านทรายมูล กุดชม เลิงนกทา แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอนิคมคำสร้อยสู่มุกดาหาร

ทางรถประจำทาง
บริษัทขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 936-2852-66

    นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมระหว่างจังหวัดมุดาหารและอื่นๆในภาคอีสาน อาทิ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุดรธานี และมหาสารคาม กำหนดเวลาและรายละเอียดสอบถามได้ที่ สถานีขนส่งจังหวัดมุกดาหาร โทร. (042) 611421, 611478, 613025-9

ทางรถไฟ
มีรถด่วน รถเร็ว และรถด่วนพิเศษสปรินเตอร์ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน จากนั้นต่อรถโดยสารไปยังจังหวัดมุกดาหาร ระยะทางประมาณ 167กิโลเมตร วันละ 3 เที่ยว รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020

ทางเครื่องบิน
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดมุกดาหารโดยตรง หากประสงค์เดนทางโดยเครื่องบินต้องเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี หรือ นครพนม จากนั้นต่อรถโดยสารไปจังหวัดมุกดาหาร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 280-0060, 628-2000

 

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ :


อำเภอเมือง-อำเภอนิคมคำสร้อย 28 กิโลเมตร

อำเภอเมือง-อำเภอหว้านใหญ่ 31 กิโลเมตร

อำเภอเมือง-อำเภอดอนตาล 34 กิโลเมตร

อำเภอเมือง-อำเภอคำชะอี 35 กิโลเมตร

อำเภอเมือง-อำเภอหนองสูง 52 กิโลเมตร

อำเภอเมือง-อำเภอดงหลวง 55 กิโลเมตร

 

แผนที่อำเภอในจังหวัด

 

 

 

 

อาณาเขต :


ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และ อำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด

ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงสวันเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

       มุกดาหารมีพื้นที่ทั้งหมด 4,339.83 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอคำชะอี อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง

 

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร :

 

สถานที่ท่องเที่ยว1

 

 

   * น้ำตกตาดโตน  อ.หนองสูง  จ.มุกดาหาร

      น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

   * แก่งกะเบา  อ.หว้านใหญ่  จ.มุกดาหาร

     แก่งกะเบา เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ บริเวณริมแก่งกระเบามีร้านอาหารตั้งอยู่ อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือ หมูหันซึ่งมีรสชาติอร่อยตามแบบฉบับสูตรเด็ดของท้องถิ่น

      การเดินทาง ใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม(ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร

   * อ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็ก  อ.นิคมคำสร้อย  จ.มุกดาหาร

      อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่บนเส้นทาง 212 (สายมุกดาหาร-เลิงนกทา)ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 23 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าภูหมู เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร  ภายในบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็กยังมีร้านอาหารและที่พักไว้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการมาพักผ่อนอีกด้วย

 

   * ภูผาเทิบ  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร

      อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล(ทางหลวงหมายเลข 2034)แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 10 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4กิโลเมตร ภายในอุทยานฯประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย

     สถานที่น่าเที่ยวชมภายในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ได้แก่
    1.กลุ่มหินเทิบ  2.ลานมุจลินท์  3.น้ำตกวังเดือนห้า  4.ผาอูฐ  5.ภูถ้ำพระ   6.ผามะนาว   7.ถ้ำฝ่ามือแดง

 

 

สถานที่ท่องเที่ยว2

 

 

   * หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก  อ.เมือง จ.มุกดาหาร

     หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้ว ทรงครองราชย์ครบ 50ปี หอแก้วมุกดาหารมีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือเครือ่งใช้ในการดำรงชีวิตของชาวมุกดาหาร ชั้น 2เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติเมืองมุกดาหาร วัตถุโบราณ ภาพถ่ายเก่า ตลอดจนเครื่องแต่งกายชาวไทยพื้นเมืองมุกดาหาร 8 เผ่า ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 สูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิวและโดม สูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ "ลูกแก้วมุกดาหาร" มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร การขึ้นไปชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียนอำนวยความสะดวก โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้านในระดับต่างๆรวม 4 ระดับ คือ ชั้นที่ 1,2,6และ7 บนชั้นที่ 6มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมทิวทัศน์ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน หอแก้วมุกดาหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ค่าข้าชมคนละ 20 บาท

   * ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร

 

      ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขง ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง และเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน

   * กลองมโหระทึก  อ.ดอนตาล  จ.มุกดาหาร

     กลองมโหระทึก เป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล อำเภอดอนตาล แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอดอนตาล โดยสร้างเป็นหอกลองเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง

 

10 July 2556 | Count View 1788