logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่มุกดาหาร
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

 

จังหวัดมุกดาหาร

 

ประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร

มุกดาหาร เป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศลาวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย

ตั้งเมืองมุกดาหาร


     ในครั้งเมื่อปลายสมัยของกรุงศรีอยุธยาทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงแขวงสุวันเขต มีหมู่บ้านชุมชนใหญ่ชื่อบ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสะวันเขตในปัจจุบัน มีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ปกครอง และมีบุตรชายชื่อเจ้ากินรี ซึ่งเจ้าจันทรสุริยวงศ์ได้ปกครองอยู่หลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรีผู้เป็นบุตรได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก
     เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก)เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว(คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)

     ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า "พระเจ้าองค์หลวง" เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
     เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ (ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้)ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน(รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)
     ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระายาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร

คำขวัญจังหวัดมุกดาหาร

หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา

แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน

กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา

ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน

 

 

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระยะทาง ๗๒ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๖๔๒ กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด ๒,๗๑๒,๓๙๔ ไร่ (๔,๓๓๙.๘๓ ตร.กม.) ประกอบด้วย ๗ อำเภอ ประชากรรวม ๓๓๙,๐๐๐ คน มีทำเล ที่ตั้งอยู่ปลายทางด้านตะวันออกสูงสุดของประเทศไทย ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) ก่อนข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๒ สู่แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นแขวงใหญ่อันดับสองรองจากนครหลวงเวียงจันทน์ มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน

 

พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัด
- พื้นที่การเกษตร ประมาณ 1.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.99 ของพื้นที่จังหวัด โดยมี พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 0.11 ล้านไร่ คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.28 ของพื้นที่การเกษตร ประกอบด้วย โครงการชลประทานขนาดกลาง 21 แห่ง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 55 แห่ง และบ่อบาดาล 1,845 แห่ง
- พื้นที่ป่าไม้ประมาณ 863,281 ไร คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๘๓ ของพื้นที่จังหวัด

 

จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,339.83 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ

1. อำเภอเมืองมุกดาหาร

2.อำเภอคำชะอี

3.อำเภอนิคมคำสร้อย

4.อำเภอดอนตาล

5.อำเภอดงหลวง

6.อำเภอหว้านใหญ่

7.อำเภอหนองสูง

 

อาณาเขต
ทิศใต้
ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และ อำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงสวันเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

 

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร
สถานที่ท่องเที่ยว1 
 

  น้ำตกตาดโตน  อ.หนองสูง  จ.มุกดาหาร
      น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

 แก่งกะเบา  อ.หว้านใหญ่  จ.มุกดาหาร
     แก่งกะเบา เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ บริเวณริมแก่งกระเบามีร้านอาหารตั้งอยู่ อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือ หมูหันซึ่งมีรสชาติอร่อยตามแบบฉบับสูตรเด็ดของท้องถิ่น
      การเดินทาง ใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม(ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร

 อ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็ก  อ.นิคมคำสร้อย  จ.มุกดาหาร
      อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่บนเส้นทาง 212 (สายมุกดาหาร-เลิงนกทา)ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 23 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าภูหมู เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร  ภายในบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็กยังมีร้านอาหารและที่พักไว้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการมาพักผ่อนอีกด้วย

 อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ อ.เมือง  จ.มุกดาหาร
      อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล(ทางหลวงหมายเลข 2034)แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 10 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4กิโลเมตร ภายในอุทยานฯประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย

 

 

สถานที่ท่องเที่ยว2

 หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก  อ.เมือง จ.มุกดาหาร
     หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้ว ทรงครองราชย์ครบ 50ปี หอแก้วมุกดาหารมีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือเครือ่งใช้ในการดำรงชีวิตของชาวมุกดาหาร ชั้น 2เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติเมืองมุกดาหาร วัตถุโบราณ ภาพถ่ายเก่า ตลอดจนเครื่องแต่งกายชาวไทยพื้นเมืองมุกดาหาร 8 เผ่า ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 สูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิวและโดม สูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ "ลูกแก้วมุกดาหาร" มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร การขึ้นไปชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียนอำนวยความสะดวก โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้านในระดับต่างๆรวม 4 ระดับ คือ ชั้นที่ 1,2,6และ7 บนชั้นที่ 6มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมทิวทัศน์ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน หอแก้วมุกดาหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ค่าข้าชมคนละ 20 บาท

 ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร
      ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขง ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง และเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน

 กลองมโหระทึก  อ.ดอนตาล  จ.มุกดาหาร
     กลองมโหระทึก เป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล อำเภอดอนตาล แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอดอนตาล โดยสร้างเป็นหอกลองเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง

โบสถ์คริสต์วัดสองคอน หรือ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขีวัดสองคอน
     ตั้งอยู่ท่ามกลางบริเวณอันกว้างขวางริมฝั่งโขง ณ บ้านสองคอน อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร วัดสองคอนแห่งนี้ ถือเป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่ได้ชื่อว่าสวยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

 
10 กรกฎาคม 2556 | จำนวนเข้าชม 20482 ครั้ง